วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556

เทคนิคการสอนคำศัพท์

ประเภทของคำศัพท์
........ บำรุง โตรัตน์ (2535 : 10) , ศรีวัย สุวรรณกิตติ (2522 : 15) และ อัญชลี แจ่มเจริญ (2526 : 7) แบ่งประเภทของคำศัพท์ได้ 2 ชนิด ตามลักษณะของการใช้เป็นดังนี้ คือ
........ 1. คำศัพท์ที่ผู้เรียนในระดับนั้น ๆ ได้พบเห็นบ่อย ๆ ทั้งในการฟัง พูด อ่าน และเขียน (Active Vocabulary) นอกจากครูจะสอนให้รู้จักความหมายแล้ว จะต้องสอนให้นักเรียนสามารถใช้คำ ประโยค ได้ทั้งในการพูดและการเขียน ซึ่งถือว่าเป็นทักษะขั้นการนำไปใช้
........ 2. คำศัพท์ที่ผู้เรียนในระดับชั้นนั้น ๆ ไม่ค่อยพบเห็นหรือนาน ๆ จะปรากฏครั้งหนึ่งในการฟังและการอ่าน การสอนคำศัพท์ที่ผู้เรียนไม่ค่อยพบเห็นบ่อย ครูเพียงสอนแต่ให้รู้ความหมายที่ใช้ในประโยคก็เพียงพอ เน้นให้นักเรียนทั้งฟังและอ่านได้เข้าใจ โดยไม่เน้นให้นักเรียนเอาคำศัพท์นั้นมาใช้ในการพูดและเขียน
         นอกจากนี้ ยังได้มีการแบ่งประเภทของคำศัพท์ตามโอกาสที่จะได้ใช้หรือได้พบใน แต่ละทักษะทางภาษา สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท (นันทิยา แสงสิน. 2527 : 92) ดังนี้
................ 1. คำศัพท์เพื่อการฟัง เป็นคำศัพท์ที่ใช้มากในเด็กเล็ก เพราะไม่เคยเรียนรู้ภาษามาก่อน เป็นคำศัพท์ที่ค่อนข้างง่าย และการเรียนรู้เกิดจากการฟังก่อน
................ 2. คำศัพท์เพื่อการพูด เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในภาษาพูด ซึ่งต้องสัมพันธ์กับการฟัง คำศัพท์ที่ใช้ในการพูดนั้นต้องสามารถใช้สื่อความหมายได้ โดยคำศัพท์เพื่อการพูดจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ คำศัพท์ที่ใช้ภายในบ้านหรือระหว่างเพื่อนฝูง คำศัพท์ที่ใช้ในการเรียนหรือการทำงาน และคำศัพท์ที่ใช้ในการติดต่อราชการ หรือใช้ในชีวิตประจำวัน

................ 3. คำศัพท์เพื่อการอ่าน เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในการอ่านและเป็นปัญหามากสำหรับเด็กที่เรียนภาษา คือ ต้องรู้ความหมายเพื่อที่จะนำไปตีความเนื้อหา และข้อความที่อ่านได้

............... 4. คำศัพท์เพื่อการเขียน เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในการเขียน ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่สูงและยาก เป็นคำศัพท์ที่ผู้เรียนจะต้องได้รับการสอนที่ถูกต้องและเป็นทางการ

........ การแบ่งคำศัพท์ออกเป็นประเภทตามลักษณะการใช้และตามโอกาสดังที่กล่าวมานี้ มีผลสำคัญต่อกี่จัดการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ สำหรับบทบาทของผู้สอนแล้ว ผู้สอนจะต้องช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้คำศัพท์ที่จำเป็นสำหรับการใช้ในโอกาสและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมะสม โดยในการช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้คำศัพท์นั้น หมายถึง การช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์และเกิดพฤติกรรมดังนี้ คือ ออกเสียงและสะกดคำได้ บอกความหมายของคำศัพท์ได้ และสามารถนำคำศัพท์ที่รู้นั้นไปใช้ในการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนได้อย่างถูกต้อง (อิสรา สาระงาม. 2529 : 78 , 1981 : 76)


เทคนิคในการสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ 
เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในการเรียนการสอน ทั้งนี้เพราะหากเทคนิคการสอนไม่เอื้อต่อการเรียนการสอนแล้ว การเรียนการสอนก็ไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ เกี่ยวกับเทคนิคการสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ศิธร แสงธนู และ คิด พงศทัต (2521 : 36 – 38) กล่าวไว้สรุปได้คือ

........ 1. คำศัพท์ที่สอนควรเป็นคำสั้น ๆ สะกดตรงตัว และเป็นคำที่มีเสียงคล้องจองกัน เช่น fan – man , rat - cat
........ 2. คำที่นำมาสอนควรเป็นคำที่เห็นได้จากใกล้ ๆ ตัวเด็กและเป็นรูปธรรม เช่น ของใช้
........ 3. หากเป็นการสอนรูปประโยคใหม่ ควรใช้คำศัพท์เก่า และควรใช้รูปประโยคเก่าในการสอนคำศัพท์ใหม่ จะทำให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายและเร็วกว่า
........ 4. ควรใช้อุปกรณ์พื้น ๆ เช่น ชอล์กและสีเมจิ ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยการเน้นสิ่งที่ควรเน้น เมื่อเขียนบนกระดานหรือกระดาษ โดยเฉพาะสีแดง ควรใช้เน้นส่วนที่ต้องการเน้นจริง ๆ เท่านั้น
........ 5. เสียงที่ครูไม่แน่ใจ ไม่ควรนำมาสอน จนกว่าจะได้ตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อน

........ 6. การจดคำศัพท์ ควรให้นักเรียนวาดภาพประกอบด้วย สร้างความเพลิดเพลินและช่วยทำให้เด็กจำได้มากกว่าเขียนคำแปลเป็นคำ ๆ

........ 7. การฝึกสะกดคำปากเปล่า คำที่มีหลายพยางค์ควรให้เด็กแยกพยางค์สะกด จะทำให้จำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้น อาจเป็นการตบมือหรือเคาะจังหวะ เป็นต้น
........ 8. การทำแบบฝึกเสริม ควรมีภาพประกอบมาก ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก
........ 9. นักเรียนที่มีปัญหาในการออกเสียง ครูอาจทำแบบฝึกหัดเพิ่มเติม ช่วยในการฝึกออกเสียงโดยเฉพาะ (Sound Drill) ฝึกออกเสียงคำเป็นคู่ ๆ
........ 10. การทำแผนการสอน ครูที่สอนชั้นเดียวกันควรร่วมมือกัน เพื่อจะได้กิจกรรมที่หลากหลาย
........ 11. การใช้ภาษาไทยในชั่วโมงภาษาอังกฤษ ครูน่าจะใช้เมื่อจำเป็น เช่น เมื่ออธิบายวิธีต่าง ๆ แล้วนักเรียนก็ไม่เข้าใจ
........ 12. ควรรู้จักสอดแทรกการแปลและไวยากรณ์ในกิจกรรมอย่างเหมาะสม โดยไม่ให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะการแปลและไวยากรณ์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และสำคัญสำหรับการเรียนภาษาต่างประเทศของเด็กไทย

การจัดกิจกรรมการสอนคำศัพท์ 
ในการจัดกิจกรรมการสอนคำศัพท์ อุทัย ภิรมย์รื่น (2524 : 24) เสงี่ยม โตรัตน์ (2534 : 27) และประนอม สุรัสวดี (2535 : 30) กล่าวไว้สรุปได้ว่า
........ 1. การสอนคำศัพท์ในระดับประถมศึกษา ไม่เน้นการให้นักเรียนรู้คำศัพท์มาก แต่จะเน้นการออกเสียงคำศัพท์ที่ถูกต้องมากกว่า
........ 2. การสอนคำศัพท์ในประโยคไม่เน้นโครงสร้างไวยากรณ์ของประโยค
........ 3. ไม่ควรสร้างคำศัพท์ในกลุ่มต่าง ๆ หลายคำ ในแต่ละครั้งของการสอนเกี่ยวกับ Family member นักเรียนควรจะรู้เกี่ยวกับ father , mother , sister หรือ brother ในบทที่ 1 ส่วนในบทที่ 2 จึงค่อยเรียน grandparents และต่อไปจะเรียน nephew , uncle , aunt และ cousin 
........ 4. การสอนคำศัพท์แก่เด็ก ควรอาศัยสถานการณ์ประกอบ
........ 5. ในแต่ละชั่วโมง ควรสอนคำศัพท์ประมาณ 3 – 5 คำ และใช้คำศัพท์ใหม่ในโครงสร้างประโยคที่เรียนแล้ว
........ 6. การเลือกคำศัพท์มาใช้สอน ควรเป็นคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตจริงมากกว่า
........ 7. การเลือกคำศัพท์มาใช้สอน ควรเลือกคำที่สัมพันธ์กัน เช่น คำว่า cow น่าจะคู่กับ ox หรือ grass มากกว่าไปคู่กับคำว่า ship
........ 8. คำที่ใช้กับนักเรียนประถมต้น ควรจะเป็นคำที่มองเห็นภาพ สาธิตได้เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม
........ 9. การทบทวนคำศัพท์ที่เรียนไปแล้ว ควรทบทวนคำศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กับคำศัพท์ใหม่
........ 10. ควรติดบัตรคำศัพท์ที่สอนไว้ในห้องสัก 1 – 2 สัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนตลอดเวลาจะได้จำได้ เพราะการที่นักเรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 4 ด้าน คือ ได้เห็น ได้ยิน ได้พูด และได้เขียน จะช่วยย้ำความจำได้แม่นยำขึ้น และควรจัดกิจกรรมให้มีการนำคำศัพท์นั้นมาใช้ในการสื่อสารสนทนาเสมอ ๆ
........ 11. การท่องคำศัพท์ เด็กเล็กไม่อยากปฏิบัติ เพราะน่าเบื่อ ควรให้นักเรียนจับคู่กันท่องคำศัพท์ เพราะจะทำให้ไม่เบื่อเหมือนท่องคำศัพท์คนเดียว
........ 12. การเขียนคำศัพท์ (Dictation) มีประโยชน์มาก จะช่วยย้ำความจำด้านสะกด ครูควรให้นักเรียนเขียนคำศัพท์อย่างสม่ำเสมอทุก ๆ สัปดาห์ หรือประมาณเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย โดยกำหนดให้นักเรียนทบทวนมาล่วงหน้าว่าจะเป็นคำอะไรบ้าง การเขียนแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 20 คำ ควรมีการให้คะแนนสะสมด้วย อาจจะให้คะแนนแก่คนที่ทำ เพราะการเขียนคำศัพท์มีประโยชน์ ทั้งนี้เนื่องจากการได้เขียนจะทำให้จำศัพท์แม่นยำกว่าการท่องปากเปล่า
........ 13. การแข่งขันระหว่างกลุ่มและทดสอบคำศัพท์ ควรแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้านานพอสมควร และกำหนดคำศัพท์ที่จะแข่ง เพราะจะทำให้เด็กมีกำลังใจท่อง
........ 14. การฝึกสะกดคำพร้อม ๆ กัน บางครั้งถ้าเป็นคำมากกว่า 1 พยางค์ ครูควรฝึกให้นักเรียนสะกดแยกทีละพยางค์เสียก่อน จะช่วยจำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้น เช่น black – board , pen – cil เป็นต้น ขณะที่สะกดอาจให้นักเรียนปรบมือประกอบไปด้วยเมื่อออกเสียงแต่ละตัว หรืออาจจะปรบตามจำนวนพยางค์ เช่น eleven ให้ปรบมือ 3 ครั้ง
........ 15. การสอนคำศัพท์ขั้นแรก ครูไม่ควรเน้นการสะกด แต่ควรให้เด็กได้ทราบความหมายของคำโดยเร็วเสียก่อน อาจใช้วิธีดูภาพ ดูของจริง โดยทายจากการบอกใบ้ การแสดงท่าทางของครู เมื่อทราบความหมายแล้ว จึงให้ฝึกสะกดคำ เพราะการสะกดคำยากกว่าการจำความหมาย
........ 16. คำศัพท์ที่ปรากฏในหนังสือเรียน คำศัพท์ประเภทนี้จะปรากฏในบทอ่าน คำศัพท์ใด ๆ ที่ปรากฏซ้ำ ๆ และเป็นคำศัพท์ที่นักเรียนควรจะรู้และใช้เป็น ควรควรออกเสียงให้ถูกต้องทั้งความหมายและวิธีใช้คำนั้น ๆ อย่างถูกต้อง ส่วนคำศัพท์ที่ยากเกินไปสำหรับชั้นเรียน หรือคำศัพท์ที่ไม่ปรากฏในหนังสือเรียน ครูอาจจะสอนเฉพาะการออกเสียง และความหมาย แต่ไม่ต้องฝึกวิธีใช้

........ 17. คำศัพท์ที่มีประโยชน์ คำศัพท์ประเภทนี้นักเรียนควรจะรู้จัก อาจจะเป็นคำศัพท์ที่ไม่ปรากฏในหนังสือเรียน แต่จะต้องใช้ให้ถูกต้องในการพูดสนทนาหรือในการเขียน คำศัพท์ประเภทนี้จะต้องสอนวิธีใช้ให้ถูกต้อง
........ 18. ครูเป็นผู้ออกเสียงคำศัพท์โดด ๆ อย่างถูกต้องชัดเจน ให้นักเรียนฟังก่อน 2 – 3 ครั้ง แล้วจึงให้นักเรียนพูดตาม
........ 19. ครูให้ความหมายของคำศัพท์ด้วยการใช้อุปกรณ์หรือการแสดงท่าทางประกอบ
........ 20. ตรวจสอบว่านักเรียนเข้าใจความหมายของคำศัพท์ด้วยการตั้งคำถามแบบ Yes / No Question ให้นักเรียนตอบทั้งชั้นหรือให้คนใดคนหนึ่งเป็นคนตอบ
........ 21. ครูแสดงการใช้คำศัพท์ในรูปประโยคให้เด็กได้เห็น แล้วให้เด็กจดเอาไว้ในสมุด
........ 22. ครูให้เด็กคิดคำศัพท์หรือหัดแต่งประโยค โดยการใช้คำศัพท์นั้น ๆ ตามแบบที่เด็กเคยเห็นจากที่ครูเขียนให้ดูบนกระดาน

ขั้นตอนของการสอนคำศัพท์

1. ขั้นสอนฟังและสอนความหมาย

2. ขั้นสอนพูดให้ออกเสียงได้ถูกต้อง

3. ขั้นสอนอ่าน ให้เห็นส่วนประกอบของคำ อ่านให้ฟังให้อ่านและสะกดคำพร้อมกัน

4. ขั้นสอนเขียน ให้เห็นภาพหรือได้ฟังคำนั้นและเขียนให้ถูกต้อง

5. ขั้นทดสอบความเข้าใจและฝึกให้นักเรียนใช้คำศัพท์

6. ให้นักเรียนจดคำศัพท์พร้อมความหมาย

จากขั้นตอนการสอนคำศัพท์ที่กล่าวมา สรุปการสอนคำศัพท์ได้ดังนี้

ขั้นที่ 1 ขั้นการสอนฟัง – พูด ความหมายของคำศัพท์และการออกเสียงที่ถูกต้องอาจจะมีกิจกรรมดังนี้ คือ เริ่มจากแนะนำคำศัพท์โดยการใช้สื่อประกอบ จากนั้นออกเสียงและให้นักเรียนออกเสียงเลียนเสียงอย่างถูกต้อง 

ขั้นที่ 2 ขั้นการสอนอ่าน กิจกรรมในขั้นนี้อาจจะเป็นการจับคู่ภาพกับคำศัพท์ โดยใช้บัตรภาพและบัตรคำ สำหรับให้นักเรียนอ่าน

ขั้นที่ 3 ขั้นการสอนเขียนเริ่มจากการสอนตัวอักษรให้ออกเสียงและเขียนลีลาตัวอักษรในอากาศ จากนั้นเขียนตัวอักษรตามเส้นประ แล้วจึงคัดและบรรทุกลงในสมุด

ขั้นที่ 4 ขั้นการฝึกปฏิบัติกิจกรรม ในขั้นนี้เป็นการนำคำศัพท์ที่เรียนแล้วฝึกสนทนา


ตัวอย่างวิธีการสอนคำศัพท์
นายข้าวเหนียวไม่ได้เก่งการสอนนะแต่วิเคราะห์ว่า
การจะเรียนคำศัพท์ของเด็กนี่

ขั้นแรก ต้องให้เด็กมีอะไรในสมองของเขาเกี่ยวกับศัพท์คำนั้นก่อน
เช่น.. นำของจริงมาเลย (แล้วครู/นร.เล่าเรื่อง เกี่ยวกับสิ่งนั้น ยิ่งเรื่องตลก หรือเรื่องเกินจริงเด็กจะจำแม่น)
(ขั้นที่ 1 เด็กมีข้อมูลในสมองครับ)

ขั้นที่ 2 นักเรียนฟังเทปอาจารย์ฝรั่ง (มีภาพหรือของจริงประกอบ) (หรือเราจะออกเสียงเองก็ได้)
นักเรียนฟังหลายๆ รอบ ครูออกเสียงทั้งคำศัพท์ และประโยค หรือการแอคติ้งค์ประกอบคำของครู

ขั้นที่ 3 นักเรียนพูดตามบ่อยๆ ซ้ำๆ
โดยครูต้องมีเทคนิคการกระตุ้นการพูดทั้งชั้น รายกลุ่ม คู่ เดี่ยว อาจนำเกมมาช่วยเช่นเป่ายิงฉุบ
ใครชนะออกเสียงคำและได้คะแนน ฯลฯ

ขั้นที่ 4 นักเรียนฝึกอ่านคำ (มีภาพ/ของจริง บัตรคำ และออกเสียง)

ขั้นที่ 5 นักเรียนฝึกการเขียน
พอถึงขั้นนี้ คุณครูอย่าสั่งให้เด็กคัดคำละ 10 ครั้ง แล้วถือว่าเป็นการฝึกเขียนนะครับ

แนวทางการสอนเขียนเช่น a book
เด็กๆ ต้องรู้จักเสียง b ก่อน
พาเด็กออกเสีย b - เบอะ หลายๆ หน
ต่อไป k - เคอะ หลายๆ หน
oo - ออกเสียง อุ (มันเทียบภาษาไทยไม่ตรงหรอกนะคับ)
เด็กๆ รวมเสียง b - oo - k เบอะ อุ เคอะ บุกคึ (คึนิดๆ)

นี่เป็นกระบวนการสอนเขียน โดยใช้เสียงเป็นสำคัญนะครับ
ท่านอื่นอาจมีหลากหลายแนวทาง ซึ่งก็ถูกต้องด้วยกันทั้งสิ้น

ขั้นที่ 6 ขั้นนี้สำคัญ ครูจะเอาไปแทรกไว้ในขั้นที่ 3 หรือ แทรกทุกขั้นก็ได้ครับ

ศัพท์ คือ เสียงและอักษร แทนสิ่งหนึ่ง และสิ่งนั้นต้องอยู่ในประโยค
หรือต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์นั่นเอง

ดังนั้นต้องฝึกให้เด็กพูด เช่น
- I have a book.
- She has a book.
- He has three books.
ครูอาจถามว่า
- Do you have a book? (Do you have any books?)
- How many books do you have?
- What color is your book?
- Which book do you like best?

ขั้นที่ 7 สร้างสรร เสริมสร้าง สังเคราะห์ผลงาน
(เป็นการกระตุ้นให้เด็กคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น รุ้จักวางแผนการทำงาน ฝึกความคิดสร้างสรร)
ครูกระตุ้นให้นักเรียนสร้างสรรผลงานเช่น
- แสดงบทบาทสมมติ / ละครแฟนตาซี ฯลฯ
- ให้นักเรียนแต่งนิทานภาพเกี่ยวกับ a book พร้อมเขียนคำบรรยายเล็กน้อย
- ฯลฯ

ขั้นที่ 8 นำเสนอผลงาน ครูและเพื่อนร่วมชื่นชม
(เป็นการสร้างให้เด็กเรียนรู้เรื่องการยอมรับคุณค่าของตัวเอง ว่าเราทำได้
เราเก่ง สร้างให้เด็กมั่นใจ กล้าแสดงออก)
- ให้เด็กได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน
- พร้อมทั้งจัดป้ายนิเทศก์ ในชั้นเรียน หรือที่อื่นๆ
- ครูและเพื่อนๆ ร่วมชื่นชม

ครูประเมินผลงานนักเรียนให้คะแนนไปได้เลยครับ ไม่ต้องมานั่งออกข้อสอบประจำบท
ให้เสียเวลา...

ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ครบถ้วนตรงตามหลักสูตร
เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข และจะรักภาษาอังกฤษและกล้าพูด
เพราะเด็กได้รับโอกาสในการพูด
เด็กถูกครูใช้เทคนิคหลอกล่อให้เรียนรู้โดยไม่รู้ตัวว่านั้นคือการเรียน
ครูก็สนุกนักเรียนก็มีความสุข

1 ความคิดเห็น:

  1. T-Shirt.com: "Tits" with text
    T-Shirt.com: "Tits" with text · T-Shirt.com: 'Tits" with text · T-Shirt.com: "Tits' with text · T-Shirt.com: titanium exhaust 'Tits' titanium rod in leg with text 슬롯 나라 · T-Shirt.com: 'Tits' with text · T-Shirt.com: "Tits' with titanium engagement rings text · T-Shirt.com: grade 23 titanium 'Tits' with text · T-Shirt.com: 'Tits'

    ตอบลบ